วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

ข้อมูลทั่วไปของวรรณกรรม



\\ ข้อมูลทั่วไปของวรรณกรรม //

วรรณกรรม มาจากการสร้างศัพท์ใหม่ แทนคำว่า "Literature" โดยวิธีสมาส หรือรวมคำจากคำว่า วรรณ หรือ บรรณ ซึ่งหมายถึงใบไม้ หรือ หนังสือ รวมกับคำว่า กรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำดังนั้นวรรณกรรม จึงหมายถึง การกระทำที่เกี่ยวกับหนังสือ โดยความหมายของวรรณกรรม หมายถึง สิ่งซึ่งเขียนขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใด หรือเพื่อความมุ่งหมายใด ซึ่งอาจจะเป็นใบปลิวหนังสือพิมพ์ นวนิยาย คำอธิบาย ฉลากยา เป็นต้นก็ได้  ( กุหลาบ มัลลิกะมาส : 2517 )
         วรรณกรรม หมายถึง งานหนังสือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิดไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือในรูปอย่างใด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ สิ่งบันทึกเสียง ภาพ 
( พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 : 2539 )
วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนในรูปบทกวีนิพนธ์ ร้อยกรอง และข้อเขียนทั้งหมดที่ใช้ภาษาร้อยแก้ว ได้แก่ บทความ สารคดี นวนิยาย เรื้องสั้น เรียงความ  ละคร บทภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ ตลอดจนคอลัมน์ต่าง ๆ ในหนังสือพิมพ์  ( บทสิทธา พินิจภูวดล และคณะ : 2515 )
วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนที่แต่งขึ้นหรืองานศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งวรรณกรรมเป็น 2 ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึก   ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม เป็นต้น  ( วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี : 2556 )



ความหมายของวรรณกรรมเยาวชน
วรรณกรรมเยาวชน (อังกฤษ: Young-adult fiction; บางครั้งเรียกย่อว่า YA fiction หรือ YA) เป็นนวนิยาย หรือ เรื่องสั้น ที่เขียนขึ้นสำหรับกลุ่มผู้อ่านที่มีอายุโดยประมาณระหว่าง 12-18 ปี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากวรรณกรรมสำหรับวัยอื่น คือวรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่ วรรณกรรมยุวชน และวรรณกรรมเด็ก ตัวละครหลักของวรรณกรรมเยาวชนมักเป็นวัยรุ่น มีส่วนน้อยที่ใช้ตัวเอกเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก เนื้อหามักเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พึงประสบด้วยวัยและประสบการณ์ของตัวเอกของนวนิยายนั้นๆ ส่วนเนื้อหาของเรื่องอาจครอบคลุมลักษณะของนวนิยายหลากหลายประเภท แต่มักเน้นไปที่ประเด็นซึ่งท้าทายความเป็นวัยรุ่น รวมไปถึงนวนิยายประเภทการเปลี่ยนผ่านของวัย (coming of age) นอกเหนือจากนี้แล้ว วรรณกรรมเยาวชนก็มีลักษณะพื้นฐานเช่นเดียวกับนวนิยายประเภทอื่นๆ ทั้งเรื่องของตัวละคร พล็อต ฉาก แนวทางของเรื่อง และวิธีการเล่าเรื่อง  ( วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี : 2556 )

วรรณกรรมสำหรับเยาวชน หมายถึง หนังสือที่เขียนขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเด็ก เขียนให้เด็กโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ ก็ตาม และรวมถึงหนังสือที่เขียนขึ้นสำหรับผู้ใหญ่ที่เด็กชอบด้วย ไม่เพียงแต่อ่านแล้วได้รับความรื่นรมย์เท่านั้น แต่ต้องมีคุณภาพทางด้านเนื้อหาและได้มาตรฐานทางศิลปะ เหมาะกับระดับความสามารถในการอ่านและความเข้าใจของเด็กในแต่ละวัย (dek-d :2552)

วรรณกรรมเยาวชนแตกต่างจากวรรณกรรมของผู้ใหญ่อย่างไร
               วรรณกรรมเยาวชนจะมีเงื่อนปมไม่ค่อยซับซ้อน ใช้ภาษาง่ายๆ นำเสนออย่างตรงไปตรงมา เรียบง่ายสั้นกระชับ ให้ความสนุกสนาน ตัวละครส่วนใหญ่เป็นตัวละครแบบ Flash คือตัวละครที่เห็นแค่ด้านเดียว แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับอายุของเด็กในแต่ละวัย ที่เป็นคนอ่านของเราด้วย ถ้าเป็นเด็กที่มีอายุมากหน่อย อาจจะเพิ่มความซับซ้อนขึ้นมาก็ได้
          ส่วนวรรณกรรมผู้ใหญ่จะมีเงื่อนปมซับซ้อน ใช้ภาษายากเพื่อเพิ่มตอนต่อไปเรื่อยๆ เนื้อเรื่องซับซ้อน ลึกลับ ตัวละครจะเป็นตัวละครแบบหลายมิติ คือมีอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมที่หลากหลายด้าน

ประเภทของวรรณกรรมเยาวชน
-นิทานภาพ : เหมาะกับเด็กวัยเล็ก มีแนวคิดแค่ 1 หรือ 2 เท่านั้น
-บทเพลงกล่อมเด็ก : ทำให้เด็กคุ้นเคยก่อนไปอ่านบทกวีที่ยากยิ่งขึ้น
-นิทานพื้นบ้าน : การประสบความสำเร็จ การต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่มีความก้าวร้าว ความดีชนะความชั่ว
-นิทาน , ตำนาน , มหากาพย์ :  เป็นมรดกทางวรรณกรรมที่เด็กควรรู้ เรียนรู้ถึงความกล้า สัจจะธรรมของชีวิต ความสนุกสนาน
-แฟนตาซี : วรรณกรรมที่ดึงดูดใจเด็กได้มากที่สุด รวมไปถึงเรื่องโรแมนติก
-หนังสือขำขัน , ตลก : ให้เด็กได้คลายความเครียด
-บทกวีสำหรับเด็ก : ทำให้เด็กชื่นชมในภาษา เข้าใจภาษาเป็นอย่างดี
-หนังสือเกี่ยวกับสัตว์ : ให้ความสนุกสนาน ความอยากปกป้องรักษาสัตว์ให้กับเด็ก เรียนรู้ถึงความเมตตากรุณา
-นวนิยายเรื่องจริง : เรื่องต่างๆ ที่เห็นได้ในชีวิตจริง รู้จักโลกมากยิ่งขึ้น (เพื่อน , ความรักของพ่อแม่ , ความต้องการการยอมรับ , ครอบครัว , การเหยียดสีผิว)
-นวนิยายผจญภัย : เด่นที่การกระทำ ปริศนา อันตราย ความเครียด ลึกลับ ผ่านอุปสรรคต่างๆด้วยการกระทำที่ไม่ธรรมดา
-นวนิยายประวัติศาสตร์ : เรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้โดยที่เด็กไม่เบื่อ
-ชีวประวัติ : เรียนรู้เรื่องราวในอดีต ความกล้า การดำเนินชีวิตที่ดี ความภาคภูมิใจ
-สารคดี : ตอบสนองความต้องการและความอยากรู้ของเด็ก






ความสำคัญและอิทธิพลของวรรณกรรม

           วรรณกรรมมิใช่เป็นแต่เพียงสื่ออย่างเดียว หากสิ่งที่แฝงลึกลงไปในช่องไฟระหว่างตัวอักษร ยังสะท้อนให้เห็นถึงความตื้นลึกหนาบางทางภูมิปัญญาของผู้เขียน และลึกลงไปในภูมิปัญญานั้นก็คือความจริงใจที่ผู้เขียนสะท้อนต่อตัวเองและต่อผู้อ่าน (พิทยา ว่องกุล. 2540 : 1) วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ชาติที่เจริญแล้วทุกชาติจะต้องมีวรรณกรรมเป็นของตัวเอง และวรรณกรรมจะมีมากหรือน้อย ดีหรือเลว ก็แล้วแต่ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของชนในชาตินั้น ๆ วรรณกรรมเป็นเครื่องชี้ให้รู้ว่า ชาติใดมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงแค่ไหนและยุคใดมีความเจริญสูงสุด ยุคใดมีความเสื่อมทรามลง เพราะฉะนั้นวรรณกรรมแต่ละชาติ จึงเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า ยุคใดจิตใจของประชาชนในชาติ มีความเจริญหรือเสื่อมอย่างไร
           ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดถ่ายทอดจิตนาการและแสดงออกซึ่งศิลปะอันประณีตงดงาม การศึกษาหรืออ่านวรรณกรรมแต่ละเรื่องทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ของยุคสมัยที่ผู้ประพันธ์ได้สะท้อนผ่านมุมมองของตนออกมา รวมทั้งทำให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อสภาพการณ์เหล่านั้นด้วย ดังนั้นวรรณกรรมจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์แทบทุกด้านอาจกล่าวได้ว่า สังคมมนุษย์ที่เจริญมีอารยธรรม และเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวรรณกรรมทั้งสิ้น

อิทธิพลของวรรณกรรมที่มีต่อมนุษย์

          1. จากตัวละครที่ปรากฏในวรรณกรรม ได้เปิดเผยให้ผู้อ่านเห็นความคิดจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน ทั้งที่เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป และทั้งที่แตกต่างและมีปฏิกิริยาต่อคนอื่น
          2. จากการสร้างพฤติการณ์และสถานการณ์ในวรรณกรรม ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมของคน ๆ หนึ่งย่อมเกี่ยวโยงไปถึงคนอื่น ๆ ด้วย บางครั้งพฤติกรรมของคนเพียงคนเดียว ก็มีพลังอำนาจผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ที่เหลือวิสัยที่จะควบคุมได้ มีผลต่อตนเองและคนอื่น ๆ อีกหลายคน ซึ่งใคร ๆ ก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านแลเห็นพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ต่อต้านและขัดแย้งตามมาด้วย
          3. จากการสร้างฉากในวรรณกรรม โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนวาดภาพความเป็นไปในโลกซึ่งมีแต่ความกดดัน จะทำให้ผู้อ่านได้แลเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของชีวิต ผู้เขียนจะเลือกคัดจัดประเภทของประสบการณ์มาแยกแยะพิจารณาในวรรณกรรมของเขาเพื่อให้ผู้อ่านมีโอกาสนำประสบการณ์ของตนเองมาเทียบเคียงร่วมพิจารณาด้วย

          4. จากรูปแบบและโครงสร้างของวรรณกรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสากลว่าเป็นศิลปะนั้น ผู้อ่านไม่ว่าจะอ่านวรรณกรรมในรูปนวนิยาย บทละคร หรือบทประพันธ์อื่น ๆ ก็จะพบลักษณะของวรรณกรรมนั้น ๆ ลักษณะเฉพาะเหล่านั้น จะปรุงแต่งความคิดของผู้อ่านและกระตุ้นเตือนให้เกิดความรู้สึกนึกคิดอย่างลึกซึ้ง เป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านจากวรรณกรรมที่ผู้แต่งสร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ และโครงสร้างต่าง ๆ กัน
          5. จากภาษา สัญลักษณ์ และมโนภาพ ของวรรณกรรมได้สร้างความงามและความน่าเกลียดให้เกิดขึ้นเพื่อเทียบเคียงกัน วรรณกรรมจะกระตุ้นจินตนาการของผู้อ่านให้หวั่นไหวและมีการตอบสนองนักเขียนที่ใช้ภาษาได้กระจ่างชัดจะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดในส่วนลึกของจิตใจมายังผู้อ่านได้อย่างยอดเยี่ยม ความงดงามของภาษาของกวีหรือนักเขียน จะเขย่าอารมณ์และความคิดของผู้อ่านให้ไหวสะเทือน ความหมายที่ลึกซึ้งของกวี ความผสมกลมกลืนของการใช้สัญญลักษณ์และการวาดมโนภาพล้วนแต่มีส่วนช่วยจรรโลงใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี 
          6. จากท่วงทำนองเขียนในวรรณกรรม ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้จักลักษณะเฉพาะของกวีหรือนักเขียน แต่ละคนนั้นจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนุกตื่นเต้นไปกับบุคลิกลักาณะของกวีหรือนักเขียนซึ่งไม่ซ้ำแบบกัน
          7. จากความคิดในวรรณกรรม ผู้อ่านจะได้พบกระจกเงาใบมหึมาสะท้อนภาพประสบการณ์ ความฉลาดหลักแหลม และย่อโลกอันกว้างขวางมาวางไว้ตรงหน้า จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ และการพยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดมาแก้ปัญหาเหล่านั้น